การเก็บรักษาและข้อพึงระวังในการใช้น้ำมันหอมระเหย
น้ำมันหอมระเหยเป็นสิ่งที่สามารถระเหยได้ง่ายและรวดเร็วเมื่อถูกกระทบโดยอากาศ ความร้อน หรือแสงไฟ ผู้ใช้จึงควรเก็บน้ำมันหอมระเหยไว้ในขวดแก้วทึบแสงที่ป้องกันน้ำมันหอมระเหยจากแสงภายนอกที่จะทำลายคุณภาพของน้ำมันหอมระเหย และปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการระเหยออกสู่อากาศ ควรเก็บไว้ในที่ ๆ มีอุณภูมิพอเหมาะ คือประมาณ 18-20 องศาเซลเซียส หรืออาจเก็บไว้ในตู้เย็นก็ได้ ถึงแม้ว่าน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด จะมีอายุการใช้งานแตกต่างกัน แต่น้ำมันหอมระเหยส่วนมาก จะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 2-3 ปี แล้วหลังจากนั้นจะค่อย ๆ เสื่อมคุณภาพอย่างช้า ๆ ยกเว้นน้ำมันหอมระเหยประเภท ซิทรัส ซึ่งได้แต่พืชตระกูลส้ม ที่จะมีอายุใช้งานสั้นอยู่ที่ 9-18 เดือน
ข้อควรระวังในการใช้น้ำมันหอมระเหย
- เก็บน้ำมันหอมระเหยไว้ในที่ปลอดภัยจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยเป็นยาภายในเด็ดขาด เว้นเสียแต่ได้รับการแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
- ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหยกับผิวโดยตรง เนื่องจากความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยอาจทำให้เิกิดการระคายเคืองได้
- ระวังไม่ควรขยี้ตาหรือสัมผัสผิวหนังส่วนที่อ่อนบางในขณะที่กำลังใช้น้ำมันหอมระเหยอยู่ เนื่องจากอาจมีน้ำมันหอมระเหยติดอยู่ที่มือได้
- น้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีผลทำให้สมองสั่งงานให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้มดลูกเกิดการบีบตัว สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 1-3 เดือนแรก จึงห้ามใช้น้ำมันหอมระเหยอย่างเด็ดขาดเพราะอาจเกิดอันตรายกับครรภ์ได้ ถ้าต้องการใช้ ควรใช้หลังจากช่วง 5 เดือน เจือจางน้ำมันหอมระเหยในปริมาณที่น้อยกว่า 1% ก่อนใช้ทุกครั้ง และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์อย่างละเอียด
- เจือจางน้ำมันหอมระเหยให้เหมาะกับผู้ที่ใช้และประเภทการใช้งาน สำหรับเด็กและผู้มีผิวแพ้ง่าย ควรเจือจางให้ไม่เกิน 1%
- ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหยกับเด็กแรกเกิดที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้มีความรู้ก่อนการใช้น้ำมันหอมระเหยทุกครั้ง
- น้ำมันหอมระเหยในตระกูลส้มจะไวต่อแสงแดด จึงควรหลีกเลี่ยงการถูกแดดหลังจากนวดตัวด้วยน้ำมันประเภทนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
- ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหยชนิดเดิมซ้ำ ๆ กันเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนทุก ๆ 9-12 สัปดาห์ และหยุดใช้ซักพักก่อนกลับมาใช้ใหม่
- ก่อนใช้น้ำมันหอมระเหยไม่ว่าชนิดใด ๆ ผู้ใช้ควรทดสอบว่ามีอาการแพ้น้ำมันชนิดนั้น ๆ รึเปล่า ทุกครั้ง
วิธีทดสอบการแพ้น้ำมันหอมระเหย
ทำได้โดยหยดน้ำมันหอมระเหยลงบนสำลี แล้วแต้มที่บริเวณข้อมือหรือข้อพับแขน แล้วปล่อยทิ้งไว้สังเกตุการณ์ประมาณ 12 ชั่วโมง ถ้ามีอาการคันหรือผื่นแดงขึ้น แสดงว่าอาจมีอาการแพ้น้ำมันหอมระเหย จึงควรหลีกเลี่ยงน้ำมันหอมระเหยชนิดนั้น ถ้ามีอาการแสบและคันมาก ให้ใช้น้ำมัน Sweet Almond หรือน้ำมันมะพร้าว ทาบริเวณที่คัน แล้วล้างออกด้วยน้ำเย็น